Monday, September 22, 2008

ระบบเลือกตั้งในสังคมแตกแยก

ในสถานการณ์ความขัดแย้งปัจจุบัน ข้อถกเถียงสำคัญหนึ่งอยู่ที่การเลือกตั้ง ฝ่ายรัฐบาลอ้างผลการเลือกตั้งว่าเป็นที่มาของความชอบธรรม การเมืองใหม่ของพันธมิตรฯต้องการแก้ไขการเลือกตั้งด้วยสูตร 30-70 ที่ต้องอภิปรายกันต่อไป นอกจากนี้ ภาคประชาชนส่วนหนึ่งปกป้องการเลือกตั้งด้วยความเกรงกลัวว่าระบอบอำมาตยาธิปไตยจะกลับมา

อย่างไรก็ดี ข้อถกเถียงโดยมากก็ยังอยู่ที่ว่า เลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง โดยยังไม่ได้พิจารณาลึกลงไปถึงกลไกของการเลือกตั้งอย่างจริงจัง อันที่จริงแล้ว การพิจารณากลไกการเลือกตั้งจะส่งผลต่อรูปแบบของรัฐบาล ความโปร่งใสตรวจสอบได้ เสียงที่ถูกเปิดเผยหรือถูกกดทับในสภา

ระบบเลือกตั้งของไทยในรัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 เป็นแบบ คนแรกเป็นผู้ชนะ (First Past The Post) และ แบบ บล็อกโหวต (Block Vote) ตามลำดับ (โดยผสมกับแบบสัดส่วน) คำอธิบายอย่างง่ายๆสำหรับแบบ คนแรกเป็นผู้ชนะ คือ ในเขตเลือกตั้งหนึ่ง หากผู้สมัครพรรค ก ได้คะแนนเสียงร้อยละ 40 พรรค ข ได้ร้อยละ 30 พรรค ค ได้ร้อยละ 20 ผู้สมัครพรรค ก ก็จะเป็นผู้ชนะและได้ที่นั่งในสภาไปในทันที แม้ว่าจะได้รับการยอมรับไม่เกินครึ่ง หรือแม้ว่าผู้ลงคะแนนให้พรรค ข และพรรค ค จะไม่ชอบขี้หน้าผู้สมัครพรรค ก ด้วยซ้ำ พร้อมกันนั้น คะแนนของพรรค ข และพรรค ค รวมกันอีกร้อยละ 50 ก็กลายเป็น “คะแนนทิ้งน้ำ” ไม่ถูกนำมาคำนวณอะไร ส่วนแบบ บล็อกโหวต ผู้สมัครในเขตหนึ่งๆจากพรรคหนึ่งๆก็จะมีมากกว่าหนึ่งคน นั่นคือระบบเลือกตั้งที่เราใช้กันในปัจจุบันนั่นเอง

ระบบนี้ง่ายในการบริหารจัดการ เลือกตั้งครั้งเดียว กาช่องเดียว นับคะแนนหนเดียว แล้วจบกันไป (บางคนแซวว่าเป็นประชาธิปไตย 4 วินาที) แต่ในความง่ายนี้ก็มีข้อที่ต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นข้อเสีย

ประการแรก จำนวนที่นั่งในสภาที่ไม่ได้สะท้อนสัดส่วนของคะแนนเสียงโหวตอย่างใกล้เคียง เช่น พรรคอนุรักษ์นิยมหัวก้าวหน้า ในแคนาดาได้รับคะแนนเสียงทั่วประเทศร้อยละ 16 แต่มีที่นั่งในสภาเพียงร้อยละ 0.7 เท่านั้น ในกรณีเช่นนี้ สังคมที่มีชนกลุ่มน้อย ชนกลุ่มน้อยย่อมจะได้รับที่นั่งในสภาน้อยกว่าสัดส่วนจริง ไม่ใช่เพียงแค่ชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้มีปริมาณตัวแทนอย่างยุติธรรม ผู้หญิง กลุ่มคนพิการ หรืออาชีพ ก็ยากที่จะได้มีปริมาณตัวแทนที่แสดงสัดส่วนจริงของพวกเขาในสังคม นั่นหากสังคมนั้นเป็นสังคมที่แตกแยกอยู่แล้ว ความแตกแยกนั้นจะไม่ได้รับที่ทางเพื่อการไกล่เกลี่ยในสภาและเลี่ยงไม่ได้ที่ความขัดแย้งนั้นต้องออกไปแสดงนอกสภา

ประการที่สอง ระบบแบบนี้เป็นตัวเร่งให้เกิดการเอาชนะในเขตพื้นที่ สร้างฐานเสียงในพื้นที่จนให้เกิดการผูกขาดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามภูมิภาคของพรรคต่างๆ มากกว่าจะเป็นการแข่งขันกันในเชิงนโยบายหรืออุดมการณ์ ดูตัวอย่างจากประเทศไทยเราเองเถิดว่าการแบ่งแยกของพรรคการเมืองและการแบ่งแยกของภูมิภาคมีความชัดเจนเพียงใด

ประการที่สาม พรรคการเมืองจะขาดความใส่ใจต่อการเปลี่ยนแปลงคะแนนเสียงในพื้นที่ เช่น เมื่อพรรค ก ประเมินว่านโยบายที่มีประโยชน์ทับซ้อนทำให้คะแนนเสียงลดจากร้อยละ 40 ลงมาเหลือร้อยละ 35 แต่ตนเองก็ยังจะชนะอยู่ จะไปแคร์อะไรเล่า พรรคการเมืองในไทยตัดสินใจด้วยความกังวลต่อคะแนนเสียงด้วยหรือ ในเมื่อขอให้ระดมพลมาจนแค่ชนะแล้วอ้างความชอบธรรมจากการเลือกตั้งได้ต่อไปก็เป็นพอ

กลุ่มที่สนับสนุนการเลือกตั้งในระบบนี้เห็นว่า ระบบนี้มีข้อดีคือ ทำให้ได้พรรคการเมืองที่มีคะแนนเสียงเด็ดขาด ลดภาวะการเมืองมากพรรค ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ และการตัดสินใจทำได้อย่างรวดเร็ว แต่จากประสบการณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีความตั้งใจดังนั้น ผลจากการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากของพรรคไทยรักไทยก็ปรากฏขึ้นจริง
แต่ข้อดีดังกล่าวเป็นข้อเสียในตัว เสถียรภาพและความรวดเร็วไม่ได้การันตีธรรมาภิบาลหรือความโปร่งใส มิหนำซ้ำทำให้คนจำนวนมากรู้สึกเก็บกดกับการเมืองที่เขาไม่สามารถควบคุมได้จนแสดงออกในขบวนการนอกสภา (แต่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ) และต่อเนื่องมายังปัจจุบัน ข้อดีที่กล่าวอ้างดังกล่าวก็ถูตั้งข้อสงสัยว่าดีจริงหรือไม่ มีผลวิจัยทางสถิติในระดับโลกออกมาว่ามีแนวโน้มไม่จริง แม้ว่าจะไม่ได้มีนัยสำคัญทางสถิติก็ตาม

กระนั้นหากจะกล่าวอย่างง่าย ระบบเลือกตั้งในโลกก็ยังมีอีกสองตระกูล ตระกูลหนึ่งคือ เลือกตั้งแบบใช้เสียงส่วนใหญ่ อาจจะเป็นแบบสองเลือกตั้งรอบ เช่น รอบแรกผู้สมัครพรรค ก ได้คะแนนเสียงร้อยละ 40 พรรค ข ได้ร้อยละ 30 พรรค ค ได้ร้อยละ 20 ในรอบสองก็จะตัดพรรค ค ทิ้งไป เหลือการแข่งขันระหว่างพรรค ก และพรรค ข ในรอบที่สอง ว่าพรรคใดจะได้รับคะแนนเสียงเกินครึ่ง ระบบนี้ใช้ในฝรั่งเศสเป็นต้น

อีกตระกูลหนึ่งเป็นการเลือกตั้งแบบสัดส่วน หรือที่เราเรียกกันว่า ปาร์ตี้ลิสท์ และใช้ผสมกับแบบ คนแรกเป็นผู้ชนะ และแบบ บล็อกโหวต ทั้งในรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 แต่ก็ยังเป็นปริมาณที่น้อยอยู่ ประเทศที่มีประชาธิปไตยสูงอย่างในสแกนดิเนเวียใช้ระบบสัดส่วนเป็นหลัก ในเยอรมันจะมีการคำนวณที่ซับซ้อนมาก มีผลการศึกษาว่าระบบสัดส่วนลดความแตกแยกในสังคมที่มีความแตกแยกได้ระดับหนึ่ง

ระบบย่อยๆก็มีอีกเช่น การกาตัวเลือกที่สอง คือให้ในบัตรเลือกตั้ง ให้กาได้ว่าจะเอาผู้สมัครหรือพรรคใดเป็นตัวเลือกแรก และผู้สมัครหรือพรรคใดเป็นตัวเลือกที่สอง หากว่าคะแนนตัวเลือกแรกไม่ชนะขาดเกินครึ่ง ก็จะนำคะแนนของตัวเลือกที่สองมาพิจารณาต่อไป

แม้ว่าการเลือกตั้งจะมีหลากหลาย แต่ก็เป็นเรื่องของรูปแบบ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า อย่าหมดศรัทธาในสภาผู้แทนราษฎร แต่เราต้องออกแบบระบบเลือกตั้งให้ได้สภาที่มีคนมีธรรม ดำเนินการอย่างเป็นธรรม มีความชอบธรรม เรื่องที่จำเป็นคือเราต้องมีจินตนาการเชื่อมโยงระหว่างระบบเลือกตั้งที่หลากหลายกับสังคมที่มีวิวัฒนาการ เช่น เมื่อเรามีกลุ่มการเมืองกระจายตามจานดาวเทียมมากกว่าจะยึดติดพื้นที่ และพิธีกรรายการโทรทัศน์จานดาวเทียมก็แพ้เลือกตั้งแบบแบ่งเขตทุกที เราจะจัดระบบอย่างไรให้กลุ่มการเมืองตามจานดาวเทียมมีที่ยืนในสภาบ้าง หรือ เมื่อเรามีชาวนาจำนวนมาก มีกรรมกรจำนวนมาก เราจะทำอย่างไรให้พวกเขามีที่นั่งในสภาอย่างสมควร หรือ เมื่อสังคมเราต้องการความเข้าใจในคนมลายูในไทยมากขึ้น เพราะเราอยู่ในสังคมพหุลักษณ์ เราจะสร้างพื้นที่ในสภาของพวกเขาได้อย่างไร

บางทีเราอาจจะต้องคิดเรื่องการเลือกตั้งในระบบสัดส่วนให้มากขึ้น เลือกตั้งกลุ่มสาขาอาชีพให้มากขึ้น (ต้องพิจารณาในทางความเป็นไปได้และผลกระทบ) หรือสำหรับสามจังหวัดชายแดนใต้เราอาจจะต้องให้มีสัดส่วน สส ต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากขึ้น หรือแม้แต่เราอาจจะต้องกำหนดโควต้าให้แต่ละพรรคว่า ต้องส่งผู้สมัครหญิงจำนวนอย่างน้อยเท่าไร ผู้สมัครที่เป็นคริสต์และมุสลิมอย่างน้อยเท่าไร หรือแต่ละกลุ่มอาชีพเท่าไร ไม่ต้องเอากลุ่มอาชีพไปเลือกตั้งแยกอีกหน
แต่การออกแบบการเลือกตั้งก็ไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เรายังต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองภาคประชาชนกับการเมืองในรัฐสภา องค์ประกอบอื่นๆของสังคมก็ต้องได้รับการปรับปรุง เช่น สหภาพแรงงานต้องเข้มแข็งและเป็นไปในเชิงสาระมากขึ้น สื่อมวลชนก็ต้องสำนึกต่อความจริง สถาบันการศึกษาต้องเป็นปัญญาให้กับสังคม

แม้ระบบเลือกตั้งจะเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบ แต่สำคัญที่สังคมต้องถกเรื่องระบบเลือกตั้งให้มากขึ้น อย่าให้เป็นข้อถกเถียงของแค่กลุ่มเทคโนแครตที่ไม่เคยติดดิน และอาจออกแบบระบบให้กับพวกพ้อง ท้ายที่สุด สังคมไทยเป็นสังคมที่คงทนและมีพลวัต จงอย่าได้ยึดถือรูปแบบของรัฐธรรมนูญใดเป็นสรณะเลย รัฐธรรมนูญที่ไม่ตามทันการเปลี่ยนแปลงทางสังคมย่อมเป็นไปตามหลักอนิจจัง น้ำนิ่งย่อมเป็นน้ำเน่า การเปลี่ยนแปลงโดยฉันทานุมัติจากสังคมร่วมกันจะทำให้เราอภิวัตน์ไปด้วยกันได้

ปกรณ์

No comments: