Tuesday, September 23, 2008

กลับวิกฤติให้เป็นโอกาส -- ส. ศิวรักษ์

ช่่วงนี้ได้เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นในบ้านเมืองเรา เราจะทำวิกฤติให้เป็นโอกาสได้อย่างไร

ใน ทางพระพุทธศาสนาท่านสอนให้เรารู้จักวางท่าทีที่ถูกต้อง ดังภาษาบาลีใช้คำว่า อุปายโกสล โดยที่เราจะทำเช่นนั้นได้เราต้องเห็นประเด็นให้ชัด ประเด็นที่ว่านี้ คือ ทุกขสัจทางสังคม และเราต้องสาวหาสาเหตุให้ได้ ก่อนที่จะหาทางดับเหตุดังกล่าว ตามทางของพระอริยมรรค

หลายคนอาจกล่าวว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาเคลื่อนไหวก่อการไม่สงบ ขึ้น ไม่แต่บริเวณทำเนียบรัฐบาล หากรวมถึงแถบสะพานมัฆวานและที่อื่นๆ ในหลายต่อหลายจังหวัด

คำถามต่อไปก็คือ พันธมิตรฯ มีความชอบธรรมหรือไม่ในการประกอบกรณียะกิจเช่นนี้ ก็คงต้องตอบได้ว่ารัฐบาลและเสียงข้างมากในรัฐสภามีความชอบธรรมหรือไม่ กล่าวคือว่าโดยรูปแบบของการเลือกตั้ง รัฐสภาและรัฐบาลนี้เป็นไปตามนัยแห่งการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย แต่แท้ที่จริงแล้วเนื้อหาสาระของการปกครองอยู่ที่พื้นฐานทางจริยธรรม ถ้าประธานรัฐสภาคนแรกของสภานี้ต้องหลุดจากตำแหน่งไปเพราะทำผิดกฎหมายในข้อ ฉกรรจ์ ดุจดังนายกรัฐมนตรีคนที่เพิ่งหลุดไปก็เพราะความผิดทางกฎหมาย โดยยังไม่นับคดีอาญาอื่นๆ อันจะตามมาถึงเขา เหตุเพียงเพราะความล่าช้าทางกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น ทั้งนี้โดยไม่ต้องกล่าวถึงรัฐมนตรีคนอื่นๆ และสมาชิกสภาคนอื่นๆ มิใยต้องกล่าวถึงการที่ตัวหัวหน้ารัฐบาลเองก็เคยออกมายอมรับว่า เขาเป็นร่างทรงของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้ปู้ยี้ปู้ยำบ้านเมืองมาอย่างแสนสาหัสเพียงใด ก็ไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึง

ถ้าพันธมิตรขาดความชอบธรรม จะมีมวลชนมาสมทบกับเขาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ได้อย่างไร เป็นเวลากว่าร้อยวันมาแล้ว และนิมิตหมายที่ดีก็ตรงที่ขบวนการกรรมกรของเราซึ่งอ่อนแอมานานก็มาร่วมขบวน การอย่างเข้มแข็งยิ่งๆ ขึ้นทุกที รวมถึงนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่อ่อนกำลังมาแต่หลัง 6 ตุลาคม 2519 ก็เริ่มมาสมทบกับพันธมิตรฯ อีกด้วยเล่า จะว่านี่ไม่เป็นนิมิตหมายอันสำคัญดอกหรือ

พร้อมๆ กันนี้จำต้องกล่าวไว้ด้วยว่า พันธมิตรฯ ก็มีจุดอ่อนที่สำคัญหลายกระทงความ โดยเฉพาะก็ตรงที่ผู้นำบางคนในคณะทั้ง 5 และ อีกบางคนนอกไปจากนี้ มีอัตตามากเกินไป มีความอ่อนน้อมถ่อมตัวน้อย เห็นว่าจำเพาะพวกตนเท่านั้นที่ถูกต้องดีงาม โจมตีคนที่ตนถือว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามมากเกินไป บางครั้งอย่างปราศจากความชอบธรรมเอาเลย ทั้งบางครั้งยังใช้ผรุสวาทบวกกับความกึ่งจริงกึ่งเท็จอีกด้วย ผนวกกับการใช้เลศในทางศักดินาขัตติยาธิปไตยและชาตินิยมอย่างสุดๆ โดยไม่สนับสนุนราษฎรส่วนใหญ่ที่ทุกข์ยากอย่างจริงจัง ไม่ว่าสมัชชาคนจน หรือการต่อสู่อื่นๆ อย่างสันติวิธีที่อุดรธานี อุบลราชธานี ประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ

พันธมิตร ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยควรมีบทบาทในทางสร้างสรรค์อย่างสันติวิธีฉันใด กลุ่มอื่นก็มีสิทธิทางสันติประชาธรรมเช่นกัน ไม่ว่าจะแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ฯลฯ ทั้งหมดนี้ควรหลีกเลี่ยงความรุนแรงทั้งทางวจีกรรมและกายกรรม ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่อบรมมโนกรรมให้งอกงามในทางสันติ

ถ้า พันธมิตรฯ และกลุ่มอื่นๆ ถือเอาคำวิจารณ์ดังกล่าวว่าเป็น “ปรโตโฆษะ” หรือเสียงแห่งมโนธรรมสำนึกจากกัลยาณมิตร แล้วปรับท่าทีเสีย ลดความอาขาผวาปีกลง ใช้มธุรสวาจา ผนวกไปกับการเปิดเผยข้อเท็จจริงที่ฉกรรจ์ๆ อันชนชั้นปกครองปกปิด เพราะชนชั้นปกครองกับสื่อกระแสหลัก รวมถึงการศึกษาในระบบล้วนสยบยอมกับจักรวรรดิอย่างใหม่ อันได้แก่ สหรัฐอเมริกาและจีน ทั้งยังส้องเสพสังวาสกับบรรษัทข้ามชาติด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะทักษิณธนาธิปไตย หรือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

พันธมิตรฯ มี ASTV ซึ่ง มีอิทธิพลในทางเป็นสื่อทางเลือกได้ และอาจให้การศึกษานอกระบบได้เป็นอย่างดี จนอาจปลุกมโนธรรมสำนึกของมหาชนให้เกิดจิตสำนึกในทางการเมืองระดับรากหญ้า ที่เป็นธรรมิกสังคมนิยม ตามแนวทางของระบบนิเวศวิทยาที่เหมาะสมได้อีกด้วย

นี่เป็นความหวังที่อาจเป็นจริงได้ และนี่จะสำคัญยิ่งกว่าการจัดตั้งรัฐบาลระดับชาติไหนๆ การเมืองใหม่ต้องไม่ออกมาจากความคิดของคนบางคนเท่านั้น การเมืองใหม่ต้องกลับไปหาฐานรากทางภูมิปัญญาอย่างดั้งเดิมของเขา ซึ่งชนชั้นปกครองตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้น มา ได้ทำลายล้างพื้นฐานทางประชาธิปไตยของไทยแต่โบราณมา อย่างมักไม่เป็นที่รับทราบกัน เพราะคณะสงฆ์คือประชาธิปไตยที่แท้ และคณะสงฆ์เคยมีคุณค่ากับราษฎรไทยในทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง

อาณาจักรพึ่งเริ่มมามีอำนาจเหนือธรรมจักรแต่กลางรัชกาลที่ 5 เป็นต้น มา และนั่นคือการเริ่มเกิดวิกฤตการณ์ของคนร่วมสมัย ที่ทำให้สังคมไทยสยบยอมกับราชาธิปไตย ซึ่งเดินตามตะวันตกอย่างเซื่องๆ คนที่ไม่สยบกับระบบดังกล่าวถูกกว่าหาว่าเป็นกบฏ ไม่ว่าที่อุบลราชธานี แพร่ หรือปัตตานี คนกรุงที่ไม่สยบก็ถูกจองจำและไล่ออกจากราชการ ไม่ว่าจะเทียนวรรณ ไกรสรีเปล่ง นรินทร์ กลึง หรือ คณะ ร.ศ.130

ต่อ ร.ศ.150 แล้ว ต่างหากที่นายปรีดี พนมยงค์ สามารถนำความคิดมาจัดตั้งคณะราษฎรจนทำให้ราชาธิปไตยสิ้นสมรรถภาพไปได้ จนถึงการประกาศความเป็นใหญ่ของราษฎรสยามขึ้นได้ ณ จุดนี้ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ดัง ท่านอาสภเถระแห่งวัดมหาธาตุยืนยันว่าการอภิวัฒน์ครั้งนั้นเป็นการพลิกแผ่น ดิน ให้คนที่เคยเป็นข้า เป็นไพร่ ได้กลายมาเป็นเจ้าของประเทศชาติเป็นครั้งแรก

นาย ปรีดีไม่ต้องการเพียงความเสมอภาคทางกฎหมาย หากท่านมุ่งไปสู่ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมด้วย ดังการตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองก็เห็นได้ว่า ท่านต้องการเอาธรรมจักรมาเป็นเสียงแห่งมโนธรรมสำนึกของอาณาจักร และการที่ท่านสนทนาธรรมกับท่านพุทธทาสอย่างลึกซึ้งนั้น ท่านต้องการให้เกิดธรรมิกสังคมอย่างมีคณะสงฆ์เป็นแบบอย่าง มีการกระจายอำนาจออกไปให้ภูมิภาคต่างๆ เป็นตัวของตัวเอง แม้จะต่างศาสนา ต่างภาษา อย่างปัตตานีและบริเวณแถบนั้นก็ต้องไม่ด้อยกว่าภาคกลางหรือราชธานี

แนวทางประชาธรรมนี้ถูกย่ำยีโดยทางอธรรมตั้งแต่ พ.ศ.2490 โดยเราได้สยบอยู่กับจักรวรรดิอเมริกันและบรรษัทข้ามชาติมายิ่งๆ ขึ้นทุกที และปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมาด้วยแล้ว มีการนำเอาศักดินาขัตติยาธิปไตย มามอมเมาผู้คนให้สยบยอมยิ่งๆ ขึ้นอีกด้วย

ณ จุดนี้ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ได้มีประกาศคณะราษฎร ด้วยหลักหกประการคือ

1.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

2.จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

3.จะ ต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4.จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)

5.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้น

6.จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

น่าเศร้าไหมที่หลักทั้ง 6 นี้ ปลาสนาการไปจากจิตสำนึกของชนชั้นปกครองร่วมสมัยจนหมดสิ้น ไม่มีการตระหนักถึงหลักทั้ง 6 แม้ในโรงเรียน หรือสื่อมวลชนกระแสหลัก และการศึกษาในระบบก็คือการสอนให้คนสยบยอมกับทุนนิยม บริโภคนิยม และศักดินาขัตติยาธิปไตย

ถ้าเราต้องการจะออกจากวิกฤติร่วมสมัย เราจะต้องเอาหลักทั้ง 6 นี้ กลับมาใช้ให้สมสมัยและการรู้ทันความคิดที่สะกดเราไว้ ที่ครอบงำเรานั้น ต้องใช้สัจจะและสันติประชาธรรมเป็นแกนกลาง เพื่อให้เกิดความปกติในสังคม ซึ่งก็คือศีลนั่นเอง หมายถึง การลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ลดความเอารัดเอาเปรียบ และศีลหรือความเป็นปกติจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องประกอบด้วยสมาธิ คือการอบรมจิตใจให้สงบ ให้เกิดสันติภาวะภายในแต่ละคน ยิ่งลดความเห็นแก่ตัวลงได้มาเท่าไหร่ ก็จะเกิดความอ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้นเท่านั้น ไม่เห็นคนอื่น สัตว์อื่น เป็นศัตรู หากศัตรูคือความโลภ โกรธ หลง ภายในตัวเราเอง เมื่อเกิดสัมมาสติ ปัญญาก็จะเกิด เห็นสภาพต่างๆ ตามความเป็นจริง ว่าเราอิงอาศัยกันและกัน ควรเกื้อกูลกันและกัน เพื่อสันติประชาธรรมสำหรับโลกเรานี้

ท่าน เปรียบปัญญาว่าเป็นแสงสว่างซึ่งขจัดเสียได้ซึ่งความมืด ที่รวมถึงความกลัวและความเห็นแก่ตัว นี่จะทำให้เราเกิดความกล้าหายทางจริยธรรมกล้าท้าทายอำนาจอันอธรรมในทุกๆ ทาง

วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ เป็นเพื่อนของเราคนหนึ่งซึ่งอยู่ในขบวนการองค์กรพัฒนาเอกชน และเป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน จนตายจากไปเมื่อเร็วๆ นี้ เธอออกไปร่วมต่อสู้กับคนยากคนจนอย่างสันติวิธี โดยไม่เกลียดผู้ที่กดขี่ข่มเหงเธอและคนยากคนจนทั้งหลาย และในบั้นปลายชีวิต เธอมีเวลาภาวนาอย่างสุขสงบสำหรับตัวเธอเองและสำหรับกัลยาณมิตรของเธออีกด้วย

เธอพูดอย่างจับใจว่า

“ความดีจะเอาชนะความชั่ว และความจริงจะเอาชะความเท็จได้ในที่สุด ถ้าเราอดทนพอ”

จึง ควรที่เราจะภาวนาร่วมกัน และแผ่ไมตรีจิตมิตรภาพไปยังพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มอื่นๆ รวมถึงแผ่ขยายความรัก ความเข้าใจไปยังๆ ทุกคนในคณะรัฐบาล ในและนอกสภา รวมทั้งข้าราชการ นักธุรกิจการค้า และอาณาประชาราษฎร รวมทั้งคนในบริษัทข้ามชาติและจักรวรรดิอย่างใหม่ เราไม่โกรธ ไม่เกลียดใคร แต่เราต้องการทำลายโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมให้ปลาสนาการไปด้วยอำนาจ สัจจะและอหิงสาวิธี


ส.ศิวรักษ์ แสดง ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า วันที่ 16 กันยายน 2551 เวลา 18.00น.

No comments: