Sunday, September 28, 2008

ว่าด้วยสภา/คณะกรรมการ/องค์กรเพื่อการปฏิรูปการเมือง

ขอแสดงความคิดอ่านอันอ่อนด้อยนะครับ

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาจากวันเสาร์ที่แล้วที่เราคุยกันที่ มสช. มีความเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับเรื่องที่หยิบยกขึ้นมาพูดกัน เช่น
  • แนวคิดในการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาในทำนองเดียวกับคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย/คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง สมัยรัฐบาลชวน-บรรหาร
  • การตั้ง สสร. 3 (จริง ๆ จะเรียก สสร.3 ก็ไม่ถูกนัก เพราะก่อนจะมี สสร.2540 ที่เรียกกันว่า สสร.1 นั่นก็มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาก่อน แต่เป็นแบบชนิดที่ร่างกันหลาย ๆ ปี ร่างไม่เสร็จเสียทีเพราะตั้งขึ้นมาสมัยทหารกุมอำนาจ)
  • รวมถึงข่าวคราวกิจกรรมของสภาพัฒนาการเมืองและสภาองค์กรชุมชน
หลายสภา

ในเรื่องของสภาพัฒนาการเมืองที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2550 และมีกฎหมายลูกออกมาเรียบร้อย ได้สมาชิกครบถ้วนแล้ว แต่บางท่านติติงว่าสำนักเลขาธิการไปอยู่กับสถาบันพระปกเกล้า ผมก็อยากจะทราบเหมือนกันว่า บทบาทศักยภาพของสภาพัฒนาการเมืองในลักษณะที่เป็นอยู่จะทำงานได้แค่ไหนเพียงไร ในส่วนของสภาองค์กรชุมชนก็เกิดขึ้นจากกฎหมายที่ผลักดันในสมัย สนช. มีเรื่องมีราวกับฝ่ายมหาดไทยพอสมควร ใครมีข้อมูลก็อยากจะให้แลกเปลี่ยนกันครับ เพราะว่าที่ฟัง ๆ ดูก็เหมือนกับว่าสภานี้เกิดขึ้นเพื่อให้เสียงของชุมชนได้ยิน มีที่ทาง มีการจัดตั้งองค์กร กลัวแต่ว่าเข้ามาอยู่เป็นระบบระเบียบแล้วจะทำให้พลวัตมันอ่อนกำลังลงหรือเปล่า

ที่พูดมานี้ก็ด้วยความรู้สึกว่า ปัจจุบันเรามีอยู่หลายสภามาก ทั้ง สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาพัฒนาการเมือง สภาพัฒนาองค์กรชุมชน สภาการเกษตรแห่งชาติ (3 สภาหลังนี่มีข้อแตกต่างอย่างไรตามไปอ่านได้ที่ http://www.codi.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=1724&Itemid=105) บางครั้งเหมือนกับว่า พอเราเห็นว่าสภาที่มีอยู่เดิมทำงานไม่ได้เรื่องก็พยายามจะตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า การตั้งหน่วยงานที่ใช้งบประมาณของรัฐขึ้นมาควรจะเกิดจากความจำเป็นจริง ๆ หากมีข้อบกพร่องก็พยายามแก้ไขสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น แม้ผมจะยอมรับว่าบางครั้งสร้างอะไรขึ้นใหม่จากศูนย์จะง่ายกว่าแก้ไขของเก่าที่ทำงานไม่ได้ผล

คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย/คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง

โมเดลของคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย/คณะกรรมการปฏิรูปการเมืองที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ควรจะศึกษาในฐานะบทเรียนในอดีต แต่ก็ต้องยอมรับว่าสถานการณ์เมื่อสิบปีก่อนกับปัจจุบันมีข้อแตกต่างกันพอสมควร การเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534 จนออกมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข (ฉบับที่ 9) 2539 ซึ่งแก้มาตรา 211 ว่าด้วยวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนำไปสู่การตั้ง สสร.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับนั้น เกิดขึ้นด้วยแรงหนุนเนื่องมาตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 35 เพราะรัฐธรรมนูญ 2534 ร่างขึ้นมาสมัย รสช. บรรยากาศโดยทั่วไปเห็นเป็นทางเดียวกันว่าต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย แม้จะมีนักเลือกตั้งบางส่วนไม่เห็นพ้องแต่ก็ต้องจำยอมด้วยแรงกดดันของขบวนการธงเขียว ผมยังจำการประชุมสภาร่วมที่สภาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ นักเลือกตั้งและ ส.ว. แต่งตั้งบางคนแสดงให้เห็นว่าพวกเขาต้องกลืนเลือดยอมให้ความเห็นชอบ เห็นกันชัด ๆ ว่าใครเห็นอย่างไรเพราะเป็นการออกเสียงแบบขานชื่อเรียงตัวกันทีเลยเดียว

แต่ปัจจุบันประชาธิปไตยในจินตนาการของแต่ละหมู่แต่ละพวกแตกต่างกันมาก ทำให้ผมคิดว่ากระแสขับเคลื่อนจะไม่มีเอกภาพพอที่จะกดดันนักเลือกตั้งให้ยอมตามที่กระแสกดดันจากนอกสภาพต้องการ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากหากเรายังยอมรับว่าช่องทางเดียวที่จะใช้อำนาจรัฐได้อย่างถูกต้องก็คือการใช้อำนาจตามกติกาของรัฐธรรมนูญ คือไม่พ้นต้องอาศัยมือของนักเลือกตั้งเหล่านั้น

พูดอีกอย่างก็คือขั้วตรงข้ามมันไม่ชัด สมัยก่อนขั้วตรงข้ามเป็นการเล็งมุมกันระหว่างซากเดนเผด็จการกับประชาธิปไตย แต่ปัจจุบันตัวแทนมันไม่ชัดเจน ต่างก็เป็นพลเรือน หากแต่มีแรงขับเคลื่อนต่างกัน จะเป็นปืน วัง ทุน หรืออะไรก็สุดแท้แต่

โมเดลเดิมคณะกรรมการตั้งขึ้นโดยฝ่ายสภา ซึ่งคณะกรรมการระดับชาตินี่ถ้าไม่ตั้งจากสภาก็ต้องตั้งจากฝ่ายบริหาร นี่พูดตามรัฐธรรมนูญนะครับ ซึ่งหากไม่นับปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือของคนที่ใช้อำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการ ยังมีปัญหาอีกว่า หากเกิดการยุบสภาขึ้นแล้วคณะกรรมการเหล่านี้จะต้องสิ้นสุดลงตามไปด้วย ฉะนั้น องค์กรที่จะทำหน้าที่ระดมความเห็นในการปฏิรูปการเมืองควรจะมีทั้งส่วนที่ยึดโยงกับอำนาจนิติบัญญัติ/บริหาร และส่วนอื่น ๆ เช่น สถาบันการศึกษา ฯลฯ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน แต่ก็ต้องมีคณะกรรมการที่สามารถยึดโยงกับอำนาจนิติบัญญัติ/บริหารได้ มิฉะนั้นก็จะไม่มีท่อต่อสำหรับเอาความคิดที่รวบรวมและประวลแล้วไปแปรไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ นี่พูดกันเฉพาะในเชิงกฎหมายนะครับ ไม่ได้หมายความว่าการปฏิรูปจะมีเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียว

ทำอย่างไรให้การขับเคลื่อนมีพลัง

ตอนนี้มีหลายภาคส่วนกำลังช่วยกันชูธงปฏิรูปการเมืองครับ แต่ก็ยังกระเซ็นกระสาย ขาดพลัง ผมคิดว่าที่พันธมิตรเสียงดัง มีพลังในการเคลื่อนไหวก็เพราะว่ามี ทุน สื่อ และก็มวลชนครับ ถ้ามี 3 อย่างนี้ใหญ่ ๆ เยอะ ๆ ก็สู้กับภาครัฐได้ ถ้าอยากให้องค์กรเพื่อการปฏิรูปการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นประสบความสำเร็จก็ต้องมีปัจจัยทั้ง 3 อย่างนี้เหมือนกันครับ

  • เรื่องทุนนี่ จะใช้ทุนราชการ หรือทุนเอกชน หรือทุนอะไรดี แต่ถ้าใหญ่ไม่พอ ผมว่าก็สู้ไม่ได้
  • สื่อก็เช่นเดียวกัน ถ้ารัฐบาลมี NBT พันธมิตรมี ASTV แล้ว "เรา" จะมีอะไร เว็บบล็อก หรือว่าเว็บทีวีคงเข้าถึงคนได้ไม่มากครับ ทำอย่างไรดี ต้องช่วยกันคิด
  • มวลชน ผมคิดว่าเราต้องการมวลชนที่มีความคิดความเห็นครับ แต่นี่ก็อาจจะเป็นจุดอ่อน เพราะพอมีความเห็นหลากหลายก็ทำให้รวมกันไม่ติด กลายเป็นขาดพลังไป ผมคิดว่าพันธมิตรมีฐานมวลชนขนาดใหญ่พอดู แต่ในฐานะคนนอกผมก็ไม่รู้ว่าคนที่ไปเชียร์ไปลุ้นอยู่ขอบเวที เค้ามีความคิดเห็นอย่างไรกับข้อเสนอของพันธมิตร มีการสื่อสารสองทางหรือไม่ หรือว่านั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในการเคลื่อนไหวแบบพันธมิตร แต่ "เรา"

การเมืองหลังยุบสภา (และยุบพรรค)

ผมตั้งคำถามว่า ทำไมจึงยังไม่มีการยุบสภา คำตอบคงจะเป็นเพราะว่า พรบ.งบประมาณยังไม่ผ่านเพราะ สว. ยื่นเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญเรื่องที่ว่ากรรมาธิการในสภาผู้แทนฯ ไปแก้ไขให้มีการเพิ่มงบประมาณซึ่งขัดรัฐธรรมนูญ รายละเอียดเป็นอย่างไรไม่ทราบ รู้แต่ว่าทำให้ พรบ.งบประมาณยังไม่ผ่าน ก็เลยยังไม่พร้อมเลือกตั้ง

แต่ว่าถ้าเกิดการยุบสภาขึ้นมาจริง ๆ ล่ะ หาก พปช. (หรือพรรคทายาทอสูร) หาเสียงเรื่องการแก้/ไม่แก้รัฐธรรมนูญ ที่มีเนื้อหาเอื้อกับฝ่ายการเมือง "เก่า" แล้วฝ่ายที่อยากเห็นการเมือง "ใหม่" จะทำอย่างไรครับ เพราะดู ๆ แล้วพวกนักเลือกตั้งแบบการเมือง "เก่า" ก็คงไม่วายยึดกุมเก้าอี้ในสภาได้อยู่เหมือนเดิม หากสถานการณ์เป็นเช่นนั้นแล้วผมว่านอกจากพันธมิตรจะ "ดูเหมือน" หมดความชอบธรรม แล้วขบวนการเรียกร้องการเมือง "ใหม่" ก็ดูเหมือนจะสะดุดหรือเปล่าครับ ไอ้เรื่องการอ้่างคะแนนเสียงเป็นความชอบธรรมนี่พวกนักเลือกตั้งเค้ายิ่งถนัดกันอยู่

ยังมีความซับซ้อนที่อยากให้ช่วยกันดูด้วยก็คือเรื่องการยุบพรรคครับ พปช. จะแตกเป็นเพื่อไทย กับสุวรรณภูมิ (หรือมากกว่านั้น) แต่ก็อาจจะฮั้วกันภายหลังได้ ดูตัวอย่างได้จากพรรคที่แตกออกจาก ทรท. ได้ แล้วถึงแม้กรรมการบริหาร พปช. จะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง แต่ก็คงมีลูก เมีย พ่อตา แม่ยาย น้องเมีย ฯลฯ มาเป็นนอมินีได้อยู่ต่อไป (แล้วอย่างนี้จะยุบไปทำไมเนี่ย) คิดอย่างนี้ก็คับข้องกับระบบพรรคการเมืองไทยอย่างที่ อ.สุริชัยพูดจริง ๆ เลยครับ

บ่นมาเสียยาวแต่เหมือนไม่ได้เสนออะไรเลยนะครับ ขอบ่นให้ฟังก่อนแล้วจะพยายามคิดหาคำตอบครับ

มิค

1 comment:

Siameses said...

เป็นข้อคิดเห็นที่น่าสนใจ

เพิ่งรู้ว่าถ้ายุบสภาแล้วคณะกรรมการจะหายไปด้วย แล้วงี้ถ้าจะออก กม มารองรับ คณะกรรมการชุดนี้ คณะกรรมการชุดนี้ก็จะไม่หายไปถึงแม้ว่าจะยุบสภาใช่ไหม

เรื่องว่าถ้ายุบสภาแล้ว พปช ในนามพรรคใหม่กลับมาอีก ด้วยประกาศล่วงหน้าว่าจะแก้ รธน ตามแนวทางตนเองอันนี้ก็น่ากลัว ทำให้ประเทศไทยไม่ไปไหน แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป เป็น scenario ที่น่าคิดอันหนึ่ง