Wednesday, October 1, 2008

ตอนนี้ดูเหมือนว่าหลายๆ สถาบันทางสังคมกำลังพาตัวเองเข้ารับการทดสอบว่าสถาบันนั้นๆ อยู่ในขั้น "วิกฤต" หรือไม่

รัฐบาล -- วิกฤต อันนี้ชัดเจนแต่แรก
ต่อมา พออภิปรายไม่ไว้วางใจเสร็จ สังคมก็สรุปได้ว่า "สภาวิกฤต"
ตุลาการ "ภิวัฒน์" ปล่อยคำพิพากษา controversial ออกมาก็ "ศาลวิกฤต"
NGO ไม่ได้มีบทบาทอะไร ไม่เอารัฐบาล ไม่เอาพันธมิตร ไม่เอานักวิชาการ ฯลฯ "วิกฤต"
นักวิชาการเผยอปากพูดกันไม่กี่คน เพราะหลายคนไม่อยากเปลืองตัว แล้วก็ยอมทนอยู่ใน "วิกฤต" ต่อไป
๒๔ อธิการบดี ออกมาเสนอ กอส. ๒ แต่ไม่มีพลังขับเคลื่อน รัฐบาลไม่เอา พันธมิตรไม่เอา แป็ก "วิกฤต"

ตัวเองรู้สึกอยู่ในวิกฤต เพราะไม่เอาใครเลยเช่นกัน แต่ก็ไม่มีทางออกให้ปัญหา ร่วมแก้ไขอะไรไม่ได้

มีใคร องค์กรไหนอีกบ้างไหมที่อยู่ใน "วิกฤต"

สุดา

Sunday, September 28, 2008

ว่าด้วยสภา/คณะกรรมการ/องค์กรเพื่อการปฏิรูปการเมือง

ขอแสดงความคิดอ่านอันอ่อนด้อยนะครับ

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาจากวันเสาร์ที่แล้วที่เราคุยกันที่ มสช. มีความเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับเรื่องที่หยิบยกขึ้นมาพูดกัน เช่น
  • แนวคิดในการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาในทำนองเดียวกับคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย/คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง สมัยรัฐบาลชวน-บรรหาร
  • การตั้ง สสร. 3 (จริง ๆ จะเรียก สสร.3 ก็ไม่ถูกนัก เพราะก่อนจะมี สสร.2540 ที่เรียกกันว่า สสร.1 นั่นก็มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาก่อน แต่เป็นแบบชนิดที่ร่างกันหลาย ๆ ปี ร่างไม่เสร็จเสียทีเพราะตั้งขึ้นมาสมัยทหารกุมอำนาจ)
  • รวมถึงข่าวคราวกิจกรรมของสภาพัฒนาการเมืองและสภาองค์กรชุมชน
หลายสภา

ในเรื่องของสภาพัฒนาการเมืองที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2550 และมีกฎหมายลูกออกมาเรียบร้อย ได้สมาชิกครบถ้วนแล้ว แต่บางท่านติติงว่าสำนักเลขาธิการไปอยู่กับสถาบันพระปกเกล้า ผมก็อยากจะทราบเหมือนกันว่า บทบาทศักยภาพของสภาพัฒนาการเมืองในลักษณะที่เป็นอยู่จะทำงานได้แค่ไหนเพียงไร ในส่วนของสภาองค์กรชุมชนก็เกิดขึ้นจากกฎหมายที่ผลักดันในสมัย สนช. มีเรื่องมีราวกับฝ่ายมหาดไทยพอสมควร ใครมีข้อมูลก็อยากจะให้แลกเปลี่ยนกันครับ เพราะว่าที่ฟัง ๆ ดูก็เหมือนกับว่าสภานี้เกิดขึ้นเพื่อให้เสียงของชุมชนได้ยิน มีที่ทาง มีการจัดตั้งองค์กร กลัวแต่ว่าเข้ามาอยู่เป็นระบบระเบียบแล้วจะทำให้พลวัตมันอ่อนกำลังลงหรือเปล่า

ที่พูดมานี้ก็ด้วยความรู้สึกว่า ปัจจุบันเรามีอยู่หลายสภามาก ทั้ง สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาพัฒนาการเมือง สภาพัฒนาองค์กรชุมชน สภาการเกษตรแห่งชาติ (3 สภาหลังนี่มีข้อแตกต่างอย่างไรตามไปอ่านได้ที่ http://www.codi.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=1724&Itemid=105) บางครั้งเหมือนกับว่า พอเราเห็นว่าสภาที่มีอยู่เดิมทำงานไม่ได้เรื่องก็พยายามจะตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า การตั้งหน่วยงานที่ใช้งบประมาณของรัฐขึ้นมาควรจะเกิดจากความจำเป็นจริง ๆ หากมีข้อบกพร่องก็พยายามแก้ไขสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น แม้ผมจะยอมรับว่าบางครั้งสร้างอะไรขึ้นใหม่จากศูนย์จะง่ายกว่าแก้ไขของเก่าที่ทำงานไม่ได้ผล

คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย/คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง

โมเดลของคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย/คณะกรรมการปฏิรูปการเมืองที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ควรจะศึกษาในฐานะบทเรียนในอดีต แต่ก็ต้องยอมรับว่าสถานการณ์เมื่อสิบปีก่อนกับปัจจุบันมีข้อแตกต่างกันพอสมควร การเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534 จนออกมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข (ฉบับที่ 9) 2539 ซึ่งแก้มาตรา 211 ว่าด้วยวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนำไปสู่การตั้ง สสร.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับนั้น เกิดขึ้นด้วยแรงหนุนเนื่องมาตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 35 เพราะรัฐธรรมนูญ 2534 ร่างขึ้นมาสมัย รสช. บรรยากาศโดยทั่วไปเห็นเป็นทางเดียวกันว่าต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย แม้จะมีนักเลือกตั้งบางส่วนไม่เห็นพ้องแต่ก็ต้องจำยอมด้วยแรงกดดันของขบวนการธงเขียว ผมยังจำการประชุมสภาร่วมที่สภาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ นักเลือกตั้งและ ส.ว. แต่งตั้งบางคนแสดงให้เห็นว่าพวกเขาต้องกลืนเลือดยอมให้ความเห็นชอบ เห็นกันชัด ๆ ว่าใครเห็นอย่างไรเพราะเป็นการออกเสียงแบบขานชื่อเรียงตัวกันทีเลยเดียว

แต่ปัจจุบันประชาธิปไตยในจินตนาการของแต่ละหมู่แต่ละพวกแตกต่างกันมาก ทำให้ผมคิดว่ากระแสขับเคลื่อนจะไม่มีเอกภาพพอที่จะกดดันนักเลือกตั้งให้ยอมตามที่กระแสกดดันจากนอกสภาพต้องการ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากหากเรายังยอมรับว่าช่องทางเดียวที่จะใช้อำนาจรัฐได้อย่างถูกต้องก็คือการใช้อำนาจตามกติกาของรัฐธรรมนูญ คือไม่พ้นต้องอาศัยมือของนักเลือกตั้งเหล่านั้น

พูดอีกอย่างก็คือขั้วตรงข้ามมันไม่ชัด สมัยก่อนขั้วตรงข้ามเป็นการเล็งมุมกันระหว่างซากเดนเผด็จการกับประชาธิปไตย แต่ปัจจุบันตัวแทนมันไม่ชัดเจน ต่างก็เป็นพลเรือน หากแต่มีแรงขับเคลื่อนต่างกัน จะเป็นปืน วัง ทุน หรืออะไรก็สุดแท้แต่

โมเดลเดิมคณะกรรมการตั้งขึ้นโดยฝ่ายสภา ซึ่งคณะกรรมการระดับชาตินี่ถ้าไม่ตั้งจากสภาก็ต้องตั้งจากฝ่ายบริหาร นี่พูดตามรัฐธรรมนูญนะครับ ซึ่งหากไม่นับปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือของคนที่ใช้อำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการ ยังมีปัญหาอีกว่า หากเกิดการยุบสภาขึ้นแล้วคณะกรรมการเหล่านี้จะต้องสิ้นสุดลงตามไปด้วย ฉะนั้น องค์กรที่จะทำหน้าที่ระดมความเห็นในการปฏิรูปการเมืองควรจะมีทั้งส่วนที่ยึดโยงกับอำนาจนิติบัญญัติ/บริหาร และส่วนอื่น ๆ เช่น สถาบันการศึกษา ฯลฯ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน แต่ก็ต้องมีคณะกรรมการที่สามารถยึดโยงกับอำนาจนิติบัญญัติ/บริหารได้ มิฉะนั้นก็จะไม่มีท่อต่อสำหรับเอาความคิดที่รวบรวมและประวลแล้วไปแปรไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ นี่พูดกันเฉพาะในเชิงกฎหมายนะครับ ไม่ได้หมายความว่าการปฏิรูปจะมีเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียว

ทำอย่างไรให้การขับเคลื่อนมีพลัง

ตอนนี้มีหลายภาคส่วนกำลังช่วยกันชูธงปฏิรูปการเมืองครับ แต่ก็ยังกระเซ็นกระสาย ขาดพลัง ผมคิดว่าที่พันธมิตรเสียงดัง มีพลังในการเคลื่อนไหวก็เพราะว่ามี ทุน สื่อ และก็มวลชนครับ ถ้ามี 3 อย่างนี้ใหญ่ ๆ เยอะ ๆ ก็สู้กับภาครัฐได้ ถ้าอยากให้องค์กรเพื่อการปฏิรูปการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นประสบความสำเร็จก็ต้องมีปัจจัยทั้ง 3 อย่างนี้เหมือนกันครับ

  • เรื่องทุนนี่ จะใช้ทุนราชการ หรือทุนเอกชน หรือทุนอะไรดี แต่ถ้าใหญ่ไม่พอ ผมว่าก็สู้ไม่ได้
  • สื่อก็เช่นเดียวกัน ถ้ารัฐบาลมี NBT พันธมิตรมี ASTV แล้ว "เรา" จะมีอะไร เว็บบล็อก หรือว่าเว็บทีวีคงเข้าถึงคนได้ไม่มากครับ ทำอย่างไรดี ต้องช่วยกันคิด
  • มวลชน ผมคิดว่าเราต้องการมวลชนที่มีความคิดความเห็นครับ แต่นี่ก็อาจจะเป็นจุดอ่อน เพราะพอมีความเห็นหลากหลายก็ทำให้รวมกันไม่ติด กลายเป็นขาดพลังไป ผมคิดว่าพันธมิตรมีฐานมวลชนขนาดใหญ่พอดู แต่ในฐานะคนนอกผมก็ไม่รู้ว่าคนที่ไปเชียร์ไปลุ้นอยู่ขอบเวที เค้ามีความคิดเห็นอย่างไรกับข้อเสนอของพันธมิตร มีการสื่อสารสองทางหรือไม่ หรือว่านั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในการเคลื่อนไหวแบบพันธมิตร แต่ "เรา"

การเมืองหลังยุบสภา (และยุบพรรค)

ผมตั้งคำถามว่า ทำไมจึงยังไม่มีการยุบสภา คำตอบคงจะเป็นเพราะว่า พรบ.งบประมาณยังไม่ผ่านเพราะ สว. ยื่นเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญเรื่องที่ว่ากรรมาธิการในสภาผู้แทนฯ ไปแก้ไขให้มีการเพิ่มงบประมาณซึ่งขัดรัฐธรรมนูญ รายละเอียดเป็นอย่างไรไม่ทราบ รู้แต่ว่าทำให้ พรบ.งบประมาณยังไม่ผ่าน ก็เลยยังไม่พร้อมเลือกตั้ง

แต่ว่าถ้าเกิดการยุบสภาขึ้นมาจริง ๆ ล่ะ หาก พปช. (หรือพรรคทายาทอสูร) หาเสียงเรื่องการแก้/ไม่แก้รัฐธรรมนูญ ที่มีเนื้อหาเอื้อกับฝ่ายการเมือง "เก่า" แล้วฝ่ายที่อยากเห็นการเมือง "ใหม่" จะทำอย่างไรครับ เพราะดู ๆ แล้วพวกนักเลือกตั้งแบบการเมือง "เก่า" ก็คงไม่วายยึดกุมเก้าอี้ในสภาได้อยู่เหมือนเดิม หากสถานการณ์เป็นเช่นนั้นแล้วผมว่านอกจากพันธมิตรจะ "ดูเหมือน" หมดความชอบธรรม แล้วขบวนการเรียกร้องการเมือง "ใหม่" ก็ดูเหมือนจะสะดุดหรือเปล่าครับ ไอ้เรื่องการอ้่างคะแนนเสียงเป็นความชอบธรรมนี่พวกนักเลือกตั้งเค้ายิ่งถนัดกันอยู่

ยังมีความซับซ้อนที่อยากให้ช่วยกันดูด้วยก็คือเรื่องการยุบพรรคครับ พปช. จะแตกเป็นเพื่อไทย กับสุวรรณภูมิ (หรือมากกว่านั้น) แต่ก็อาจจะฮั้วกันภายหลังได้ ดูตัวอย่างได้จากพรรคที่แตกออกจาก ทรท. ได้ แล้วถึงแม้กรรมการบริหาร พปช. จะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง แต่ก็คงมีลูก เมีย พ่อตา แม่ยาย น้องเมีย ฯลฯ มาเป็นนอมินีได้อยู่ต่อไป (แล้วอย่างนี้จะยุบไปทำไมเนี่ย) คิดอย่างนี้ก็คับข้องกับระบบพรรคการเมืองไทยอย่างที่ อ.สุริชัยพูดจริง ๆ เลยครับ

บ่นมาเสียยาวแต่เหมือนไม่ได้เสนออะไรเลยนะครับ ขอบ่นให้ฟังก่อนแล้วจะพยายามคิดหาคำตอบครับ

มิค

Friday, September 26, 2008

สวัสดีค่ะ ปกรณ์ และทุกท่าน

ไม่เห็นมีใครมาเขียน ถกเถียงกันเลย สงสัยไม่สนใจกันแล้วละมัง
พี่เลยขอเขียนตรงนี้เลยนะ

ตอนนี้ อธิการบดีทั้งหลายออกมาเรียกร้อง คณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปกันแล้ว กระแสปฏิรูปคงดีขึ้น แต่โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าไม่ถูกจังหวะ ขณะนี้ปัญหาสภาล่ม ปัญหาความไม่ปรองดองในพรรคการเมือง อาจสำคัญกว่าการมาเย่อกับพันธมิตรฯ พี่รู้สึกว่าการเสนอในจังหวะนี้ "ล้ำหน้า" (แบบฟุตบอล) อาจไม่สำเร็จ

Anyway, พี่อาจจะประเมินผิดก็ได้ ต้องคอยดูไป

สำหรับพี่ พี่คิดว่าน่าจะเปิดการถกเถียงประเด็นนี้ให้เห็นโครงร่างก่อน ให้กระแสการถกเถียงผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ให้เวลากลุ่มต่างๆ ได้ร่วมเตรียมแนวทางการปฏิรูป แล้วเสนอตัวนี้ จึงจะดี จะสุกงอมกว่านี้ เสนอตอนนี้ พี่กลัวจะเสียของ

แต่ยังไงก็เอาใจช่วยท่านอธิการทุกท่านค่ะ

สุดา

Thursday, September 25, 2008

เส้นทางประเทศไทย

สักพักผมคิดว่าข้อความเห็นของเราที่โพสท์จะมีมากขึ้น

ผมคิดอยู่เรื่องหนึ่งว่า

ข้อความเห็นของก็มีความเหมาะสมตามจังหวะที่ต่างกันออกไป บางชิ้นต้องให้สังคมคิดตอนนี้ บางชิ้นคิดตอนปฏิรูปสังคมการเมือง บางชิ้นเป็นการเยียวยาหรือระยะยาว

ไม่ทราบว่าเราจะมาหาทางจัดแบ่งข้อความเห็นพวกเราแบบตามเส้นทางเวลาในอนาคตไหมครับ

ถ้าเห็นด้วย ลองคิดกันดูว่าเราจะแบ่งเวลาในอนาคตอย่างไรดี

ปกรณ์

Wednesday, September 24, 2008

เค้าโครง “การเล่าเรื่อง” การเมืองไทยในสมัยปัจจุบัน

สังคมการเมืองไทยขณะนี้กำลังอยู่ในภาวะอะไรกันแน่?

ถ้าให้คุณอธิบายหรือ เล่าเรื่อง ความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ให้ใครซักคนหนึ่งฟัง คุณจะ เล่า เรื่องนี้ในลักษณะอย่างไร? ที่สำคัญ คือ พล็อตหรือเค้าโครงการเล่าเรื่องที่ใช้นั้น คุณคิดว่ามันจะพาเราและสังคมการเมืองไทยไปทางไหน? ไปได้ไกลแค่ไหน?

…หรือไม่ได้ไปไหนเลย

โดยปกติ ผมเห็นว่าแนวการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆทางการเมืองแบบวิเคราะห์เชิง เกมส์อำนาจ ของผู้นำ หรือการชิงไหวชิงพริบแต่ละฝ่าย พร้อมด้วยผู้หนุนหลัง และตัวละครอื่นๆอีกมากมาย นั้น มีประโยชน์ในหลายสถาน เพราะแม้จะดูเป็นด้านมืดสักหน่อย แต่มันเป็นตัวขับเคลื่อนการเมืองในโลกจริง

แต่ ขณะนี้ ดูเหมือนว่าเราจะเอ่อท้นไปด้วยแนวการวิเคราะห์เช่นนี้มากเกินไป จนไม่สามารถมองเห็นโลกในด้านอื่นๆได้มากนัก ทั้งที่ความเป็นจริงทางสังคมการเมือง มักมีด้านอื่นๆอีกมากมายมหาศาลเสมอๆ

พูด อีกอย่าง คือ เรากำลังตั้งโจทย์อะไรต่อความขัดแย้งในการเมืองไทยปัจจุับัน คำถามแบบไหนที่เราตั้งขึ้น คำถามเหล่านี้พาเราไปสู่คำตอบแบบไหน คำตอบนั้นดูดีมีอนาคตสดใสเพียงใด หรือมีแต่พาให้เราหดหู่ เศร้าหมอง รู้สึกไม่สามารถทำอะไรได้มากมายนัก

ที่สำคัญ คือ เราสามารถตั้งโจทย์แบบอื่นๆต่อการเมืองไทยปัจจุบันได้หรือไม่? มีแนวการเล่าเรื่องแบบอื่นๆอีกได้หรือไม่? ที่ทำให้เราสามารถเห็นโลก (การเมืองไทย) ได้รุ่มรวยกว่าที่เป็นอยู่ อีกทั้งยังชวนให้เราสามารถทำอะไรกับสถานการณ์ได้บ้าง

ผม เห็นว่าหลายปีมานี้ การเมืองไทยถูกขับดันไปจนสุดขอบความรู้เท่าที่เราพอจะมีกันอยู่ และสังคมไทยก็ได้ใช้ปัญญาในการกำกับ ยับยั้ง และหาทางออกให้กับการเมืองไทยอย่างเต็มที่ แต่ดูเหมือนเรายังคงคว้าไม่เจอ โจทย์ ที่ดูจะมี พลังในการอธิบาย ได้อย่างน่าพึงพอใจมากนัก

ผม เห็นด้วยกับอาจารย์ัรัฐศาสตร์ที่ออกมาอธิบายว่าปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับ ปัญหาในระดับพื้นฐานของระบบการเมือง ซึ่งสำหรับผมแล้ว มันคือปัญหา ว่า ด้วยเรื่องคุณค่า ความหมาย และที่มาของความชอบธรรมในลักษณะต่างๆ และความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งกับประชาธิิปไตยแบบมีส่วน ร่วม หรือระหว่า้่งการเมืองแบบในรัฐสภากับการเมืองนอกสภา

ที่ มาของความชอบธรรมในระบบการเมืองหนึ่งๆนั้น มีได้หลากหลาย ทั้งที่มาจากการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ สามารถแก้ปัญหาปากท้องให้ผู้คนได้ ความชอบธรรมที่ได้มาจากคะแนนเสียงในระบบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง หรือความชอบธรรมจากการเข้าร่วมอย่างแข็งขันของพลเมือง ในฐานะที่รับผิดชอบโดยตรงต่อระบบการเมืองของตน อันเป็นฐานที่มาของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม หรือแม้แต่ความชอบธรรมของการเมืองนอกสภาที่เกิดขึ้นเพราะการเมืองในสภาไม่ สามารถธำรงบรรทัดฐานความถูกต้องของสังคมไว้ได้ และยังมีที่มาของความชอบธรรมอีกมาก เช่น จากอำนาจประเพณี บารมี การใช้หรือไม่ใช้ความรุนแรง เ็ป็นต้น

โจทย์ ใหญ่ของเราในขณะนี้ คือ ที่ผ่านมา เราเผชิญกับการปะทะกันของความชอบธรรมหลากหลายชนิด โดยไม่รู้ว่าควรจัดลำดับความสำคัญของความชอบธรรมแต่ละชนิดไว้ก่อนหลังอย่าง ไร และผู้ที่ยึดกุมความชอบธรรมแต่ละชนิดนั้น ควรเอื้ออาีรีต่อผู้ยึดกุมความชอบธรรมแบบอื่นๆอย่างไร

ตัวอย่าง ง่ายๆก็เช่น น้ำหนักเหตุผลและความชอบธรรมที่ให้ต่อความห่วงใยในภาพลักษณ์และผลประโยชน์ ทางเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศนั้น จะจัดวางความสัมพันธ์กับความไม่ชอบธรรมจากปัญหาปากท้อง ปัญหาคอร์รัปชั่น ตลอดจนปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ของประเทศอย่างไร?

ใน ทางการเมืองนั้น เรากำลังอยู่ในภาวะที่การเมืองในสภาเสื่อมความชอบธรรมลงไปมาก อันเป็นผลจากความไร้ประสิทธิภาพและคอร์รัปชั่นมากมายหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่การเมืองภาคประชาชนหรือการเมืองนอกสภานั้น ค่อยๆเข้มแข็งมากขึ้นๆ โดยเฉพาะในช่วงหลังปีสามสี่ปีมานี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเครือข่ายสื่อเป็นเนื้อเดียวกับ หรือกระทั่งเป็นผู้นำของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนเองด้วยซ้ำ การเมืองภาคประชาชนเข้มแข็งและขยายตัวอย่างล้มหลามจนน่าตกใจ เพราะบางครั้งดูจะล้ำเส้นไปบ้าง กลายเป็นดุดัน บางครั้งถึงขั้นก้าวร้าว ก่อให้เกิดความเกลียดชังแพร่สะพัด กระทั่งปริ่มๆว่าจะก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม นี้ก็ยังสามารถถือได้ว่าการเมืองภาคประชาชนของไทยก้าวหน้าไปมาก และที่น่าสนใจ ก็คือ เราจะสามารถ ต่อยอด ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในช่วงที่ผ่านมาได้อย่างไร?

ดัง นั้น โจทย์ใหญ่ทางการเมืองปัจจุบัน คือ เราจะจัดลำดับความสำคัญและความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองในสภาและการเมืองนอก สภาอย่างไร? การเมืองนอกสภา ควรไปไกล (อาจรวมทั้งดุดัน) มากน้อยเพียงใด? ความชอบธรรมของการเมืองในสภาควรอยู่ในขอบเขตระดับใด? เมื่อใดที่การเมืองในสภาหมดความชอบธรรม และต้องหลีกทางให้การเืมืองนอกสภา? และ เราจะสร้างพื้นที่ให้มากขึ้นให้คนกลุ่มต่างๆสามารถใช้การเมืองนอกสภาเป็นหน ทางรักษาความถูกต้องและความเป็นธรรมของสังคม (โดยเฉพาะเมื่อการเมืองในสภาไม่สามารถทำงานได้) ได้อย่างไร?

กล่าวอีกนัยหนึ่ง เราน่าจะชวนกันตั้งโจทย์ว่า เมื่อ เกิดสภาวะที่สังคมไม่สามารถดำเนินไปตามกระบวนการทางการเมืองปกติ (ซึ่งยืนอยู่บนความสัมพันธ์ของคุณค่าและที่มาของความชอบธรรมต่างๆในลักษณะ หนึ่ง ที่อาจให้น้ำหนักกับการเมืองในสภาและเศรษฐกิจปากท้อง หรือภาพลักษณ์การลงทุนของประเทศ ก็ตามแต่) เราควรจัดลำดับความสัมพันธ์ของคุณค่าต่างๆเหล่านี้ “ใหม่” อยางไร? เช่น อาจต้องยอมให้เศรษฐกิจการลงทุนพร่องไปบ้าง บน ฐานของความเห็นใจ ว่าคนที่ออกมาเรียกร้องนั้น เขาคงมีปัญหาจริงๆ (อาจจะหลังจากพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า อยู่มานานจริง ยอมทนลำบาก ตากแดด ตากฝนจริงๆ เพราะการเมืองนอกสภานั้น ไม่ใช่เรื่องที่ใครนึกจะเคลื่อนไหว ก็ทำได้ง่ายๆ)

เหล่านี้คือโจทย์ที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการพยายาม อธิบาย หรือ เล่าเรื่อง การเมืองไทยในปัจจุบันได้อย่างรุ่มรวยหลากหลายและดูมีที่ทางให้เราได้ทำอะไรกันได้มากขึ้น กว่าแนวการเล่าเรื่องแบบที่เป็นๆกันอยู่

หมายเหตุ : หลังจากเกิดเหตุการณ์พันธมิตรบุกยึดสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2551 และ รัฐบาลเองก็ดูมีท่าทีแข็งกร้าว ขู่จะใช้ความรุนแรงและจะสลายการชุมนุมอยู่ตลอดเวลา จนดูเหมือนสังคมไทยกำลังเข้าใกล้วิกฤตความรุนแรงมากขึ้นเรือ่ยๆ ผม เขียนบทความนี้ขึ้นหลังได้จากได้รับการเตือนสติเกี่ยวกับวิธีการมองปัญหาและ จุดประกายประเด็นที่ควรคิดจาก ปกรณ์ เลิศเสถียรชัย แห่งสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ เพื่อเป็นฐานในการร่วมคิดกันต่อไปว่าเราสามารถทำอะไรในเหตุการณ์วิกฤตทางการ เมืองไทยปัจจุบันได้บ้าง ความดีอันใดหากเกิดขึ้นจากบทความนี้ ขอยกให้ปกรณ์ ความผิดอันใดที่อาจเกิดขึ้น ผมขอรับไว้เอง

ชาญชัย

เผยแพร่ในเว็บประชาไท เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551

Tuesday, September 23, 2008

กลับวิกฤติให้เป็นโอกาส -- ส. ศิวรักษ์

ช่่วงนี้ได้เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นในบ้านเมืองเรา เราจะทำวิกฤติให้เป็นโอกาสได้อย่างไร

ใน ทางพระพุทธศาสนาท่านสอนให้เรารู้จักวางท่าทีที่ถูกต้อง ดังภาษาบาลีใช้คำว่า อุปายโกสล โดยที่เราจะทำเช่นนั้นได้เราต้องเห็นประเด็นให้ชัด ประเด็นที่ว่านี้ คือ ทุกขสัจทางสังคม และเราต้องสาวหาสาเหตุให้ได้ ก่อนที่จะหาทางดับเหตุดังกล่าว ตามทางของพระอริยมรรค

หลายคนอาจกล่าวว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาเคลื่อนไหวก่อการไม่สงบ ขึ้น ไม่แต่บริเวณทำเนียบรัฐบาล หากรวมถึงแถบสะพานมัฆวานและที่อื่นๆ ในหลายต่อหลายจังหวัด

คำถามต่อไปก็คือ พันธมิตรฯ มีความชอบธรรมหรือไม่ในการประกอบกรณียะกิจเช่นนี้ ก็คงต้องตอบได้ว่ารัฐบาลและเสียงข้างมากในรัฐสภามีความชอบธรรมหรือไม่ กล่าวคือว่าโดยรูปแบบของการเลือกตั้ง รัฐสภาและรัฐบาลนี้เป็นไปตามนัยแห่งการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย แต่แท้ที่จริงแล้วเนื้อหาสาระของการปกครองอยู่ที่พื้นฐานทางจริยธรรม ถ้าประธานรัฐสภาคนแรกของสภานี้ต้องหลุดจากตำแหน่งไปเพราะทำผิดกฎหมายในข้อ ฉกรรจ์ ดุจดังนายกรัฐมนตรีคนที่เพิ่งหลุดไปก็เพราะความผิดทางกฎหมาย โดยยังไม่นับคดีอาญาอื่นๆ อันจะตามมาถึงเขา เหตุเพียงเพราะความล่าช้าทางกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น ทั้งนี้โดยไม่ต้องกล่าวถึงรัฐมนตรีคนอื่นๆ และสมาชิกสภาคนอื่นๆ มิใยต้องกล่าวถึงการที่ตัวหัวหน้ารัฐบาลเองก็เคยออกมายอมรับว่า เขาเป็นร่างทรงของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้ปู้ยี้ปู้ยำบ้านเมืองมาอย่างแสนสาหัสเพียงใด ก็ไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึง

ถ้าพันธมิตรขาดความชอบธรรม จะมีมวลชนมาสมทบกับเขาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ได้อย่างไร เป็นเวลากว่าร้อยวันมาแล้ว และนิมิตหมายที่ดีก็ตรงที่ขบวนการกรรมกรของเราซึ่งอ่อนแอมานานก็มาร่วมขบวน การอย่างเข้มแข็งยิ่งๆ ขึ้นทุกที รวมถึงนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่อ่อนกำลังมาแต่หลัง 6 ตุลาคม 2519 ก็เริ่มมาสมทบกับพันธมิตรฯ อีกด้วยเล่า จะว่านี่ไม่เป็นนิมิตหมายอันสำคัญดอกหรือ

พร้อมๆ กันนี้จำต้องกล่าวไว้ด้วยว่า พันธมิตรฯ ก็มีจุดอ่อนที่สำคัญหลายกระทงความ โดยเฉพาะก็ตรงที่ผู้นำบางคนในคณะทั้ง 5 และ อีกบางคนนอกไปจากนี้ มีอัตตามากเกินไป มีความอ่อนน้อมถ่อมตัวน้อย เห็นว่าจำเพาะพวกตนเท่านั้นที่ถูกต้องดีงาม โจมตีคนที่ตนถือว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามมากเกินไป บางครั้งอย่างปราศจากความชอบธรรมเอาเลย ทั้งบางครั้งยังใช้ผรุสวาทบวกกับความกึ่งจริงกึ่งเท็จอีกด้วย ผนวกกับการใช้เลศในทางศักดินาขัตติยาธิปไตยและชาตินิยมอย่างสุดๆ โดยไม่สนับสนุนราษฎรส่วนใหญ่ที่ทุกข์ยากอย่างจริงจัง ไม่ว่าสมัชชาคนจน หรือการต่อสู่อื่นๆ อย่างสันติวิธีที่อุดรธานี อุบลราชธานี ประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ

พันธมิตร ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยควรมีบทบาทในทางสร้างสรรค์อย่างสันติวิธีฉันใด กลุ่มอื่นก็มีสิทธิทางสันติประชาธรรมเช่นกัน ไม่ว่าจะแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ฯลฯ ทั้งหมดนี้ควรหลีกเลี่ยงความรุนแรงทั้งทางวจีกรรมและกายกรรม ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่อบรมมโนกรรมให้งอกงามในทางสันติ

ถ้า พันธมิตรฯ และกลุ่มอื่นๆ ถือเอาคำวิจารณ์ดังกล่าวว่าเป็น “ปรโตโฆษะ” หรือเสียงแห่งมโนธรรมสำนึกจากกัลยาณมิตร แล้วปรับท่าทีเสีย ลดความอาขาผวาปีกลง ใช้มธุรสวาจา ผนวกไปกับการเปิดเผยข้อเท็จจริงที่ฉกรรจ์ๆ อันชนชั้นปกครองปกปิด เพราะชนชั้นปกครองกับสื่อกระแสหลัก รวมถึงการศึกษาในระบบล้วนสยบยอมกับจักรวรรดิอย่างใหม่ อันได้แก่ สหรัฐอเมริกาและจีน ทั้งยังส้องเสพสังวาสกับบรรษัทข้ามชาติด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะทักษิณธนาธิปไตย หรือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

พันธมิตรฯ มี ASTV ซึ่ง มีอิทธิพลในทางเป็นสื่อทางเลือกได้ และอาจให้การศึกษานอกระบบได้เป็นอย่างดี จนอาจปลุกมโนธรรมสำนึกของมหาชนให้เกิดจิตสำนึกในทางการเมืองระดับรากหญ้า ที่เป็นธรรมิกสังคมนิยม ตามแนวทางของระบบนิเวศวิทยาที่เหมาะสมได้อีกด้วย

นี่เป็นความหวังที่อาจเป็นจริงได้ และนี่จะสำคัญยิ่งกว่าการจัดตั้งรัฐบาลระดับชาติไหนๆ การเมืองใหม่ต้องไม่ออกมาจากความคิดของคนบางคนเท่านั้น การเมืองใหม่ต้องกลับไปหาฐานรากทางภูมิปัญญาอย่างดั้งเดิมของเขา ซึ่งชนชั้นปกครองตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้น มา ได้ทำลายล้างพื้นฐานทางประชาธิปไตยของไทยแต่โบราณมา อย่างมักไม่เป็นที่รับทราบกัน เพราะคณะสงฆ์คือประชาธิปไตยที่แท้ และคณะสงฆ์เคยมีคุณค่ากับราษฎรไทยในทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง

อาณาจักรพึ่งเริ่มมามีอำนาจเหนือธรรมจักรแต่กลางรัชกาลที่ 5 เป็นต้น มา และนั่นคือการเริ่มเกิดวิกฤตการณ์ของคนร่วมสมัย ที่ทำให้สังคมไทยสยบยอมกับราชาธิปไตย ซึ่งเดินตามตะวันตกอย่างเซื่องๆ คนที่ไม่สยบกับระบบดังกล่าวถูกกว่าหาว่าเป็นกบฏ ไม่ว่าที่อุบลราชธานี แพร่ หรือปัตตานี คนกรุงที่ไม่สยบก็ถูกจองจำและไล่ออกจากราชการ ไม่ว่าจะเทียนวรรณ ไกรสรีเปล่ง นรินทร์ กลึง หรือ คณะ ร.ศ.130

ต่อ ร.ศ.150 แล้ว ต่างหากที่นายปรีดี พนมยงค์ สามารถนำความคิดมาจัดตั้งคณะราษฎรจนทำให้ราชาธิปไตยสิ้นสมรรถภาพไปได้ จนถึงการประกาศความเป็นใหญ่ของราษฎรสยามขึ้นได้ ณ จุดนี้ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ดัง ท่านอาสภเถระแห่งวัดมหาธาตุยืนยันว่าการอภิวัฒน์ครั้งนั้นเป็นการพลิกแผ่น ดิน ให้คนที่เคยเป็นข้า เป็นไพร่ ได้กลายมาเป็นเจ้าของประเทศชาติเป็นครั้งแรก

นาย ปรีดีไม่ต้องการเพียงความเสมอภาคทางกฎหมาย หากท่านมุ่งไปสู่ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมด้วย ดังการตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองก็เห็นได้ว่า ท่านต้องการเอาธรรมจักรมาเป็นเสียงแห่งมโนธรรมสำนึกของอาณาจักร และการที่ท่านสนทนาธรรมกับท่านพุทธทาสอย่างลึกซึ้งนั้น ท่านต้องการให้เกิดธรรมิกสังคมอย่างมีคณะสงฆ์เป็นแบบอย่าง มีการกระจายอำนาจออกไปให้ภูมิภาคต่างๆ เป็นตัวของตัวเอง แม้จะต่างศาสนา ต่างภาษา อย่างปัตตานีและบริเวณแถบนั้นก็ต้องไม่ด้อยกว่าภาคกลางหรือราชธานี

แนวทางประชาธรรมนี้ถูกย่ำยีโดยทางอธรรมตั้งแต่ พ.ศ.2490 โดยเราได้สยบอยู่กับจักรวรรดิอเมริกันและบรรษัทข้ามชาติมายิ่งๆ ขึ้นทุกที และปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมาด้วยแล้ว มีการนำเอาศักดินาขัตติยาธิปไตย มามอมเมาผู้คนให้สยบยอมยิ่งๆ ขึ้นอีกด้วย

ณ จุดนี้ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ได้มีประกาศคณะราษฎร ด้วยหลักหกประการคือ

1.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

2.จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

3.จะ ต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4.จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)

5.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้น

6.จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

น่าเศร้าไหมที่หลักทั้ง 6 นี้ ปลาสนาการไปจากจิตสำนึกของชนชั้นปกครองร่วมสมัยจนหมดสิ้น ไม่มีการตระหนักถึงหลักทั้ง 6 แม้ในโรงเรียน หรือสื่อมวลชนกระแสหลัก และการศึกษาในระบบก็คือการสอนให้คนสยบยอมกับทุนนิยม บริโภคนิยม และศักดินาขัตติยาธิปไตย

ถ้าเราต้องการจะออกจากวิกฤติร่วมสมัย เราจะต้องเอาหลักทั้ง 6 นี้ กลับมาใช้ให้สมสมัยและการรู้ทันความคิดที่สะกดเราไว้ ที่ครอบงำเรานั้น ต้องใช้สัจจะและสันติประชาธรรมเป็นแกนกลาง เพื่อให้เกิดความปกติในสังคม ซึ่งก็คือศีลนั่นเอง หมายถึง การลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ลดความเอารัดเอาเปรียบ และศีลหรือความเป็นปกติจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องประกอบด้วยสมาธิ คือการอบรมจิตใจให้สงบ ให้เกิดสันติภาวะภายในแต่ละคน ยิ่งลดความเห็นแก่ตัวลงได้มาเท่าไหร่ ก็จะเกิดความอ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้นเท่านั้น ไม่เห็นคนอื่น สัตว์อื่น เป็นศัตรู หากศัตรูคือความโลภ โกรธ หลง ภายในตัวเราเอง เมื่อเกิดสัมมาสติ ปัญญาก็จะเกิด เห็นสภาพต่างๆ ตามความเป็นจริง ว่าเราอิงอาศัยกันและกัน ควรเกื้อกูลกันและกัน เพื่อสันติประชาธรรมสำหรับโลกเรานี้

ท่าน เปรียบปัญญาว่าเป็นแสงสว่างซึ่งขจัดเสียได้ซึ่งความมืด ที่รวมถึงความกลัวและความเห็นแก่ตัว นี่จะทำให้เราเกิดความกล้าหายทางจริยธรรมกล้าท้าทายอำนาจอันอธรรมในทุกๆ ทาง

วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ เป็นเพื่อนของเราคนหนึ่งซึ่งอยู่ในขบวนการองค์กรพัฒนาเอกชน และเป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน จนตายจากไปเมื่อเร็วๆ นี้ เธอออกไปร่วมต่อสู้กับคนยากคนจนอย่างสันติวิธี โดยไม่เกลียดผู้ที่กดขี่ข่มเหงเธอและคนยากคนจนทั้งหลาย และในบั้นปลายชีวิต เธอมีเวลาภาวนาอย่างสุขสงบสำหรับตัวเธอเองและสำหรับกัลยาณมิตรของเธออีกด้วย

เธอพูดอย่างจับใจว่า

“ความดีจะเอาชนะความชั่ว และความจริงจะเอาชะความเท็จได้ในที่สุด ถ้าเราอดทนพอ”

จึง ควรที่เราจะภาวนาร่วมกัน และแผ่ไมตรีจิตมิตรภาพไปยังพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มอื่นๆ รวมถึงแผ่ขยายความรัก ความเข้าใจไปยังๆ ทุกคนในคณะรัฐบาล ในและนอกสภา รวมทั้งข้าราชการ นักธุรกิจการค้า และอาณาประชาราษฎร รวมทั้งคนในบริษัทข้ามชาติและจักรวรรดิอย่างใหม่ เราไม่โกรธ ไม่เกลียดใคร แต่เราต้องการทำลายโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมให้ปลาสนาการไปด้วยอำนาจ สัจจะและอหิงสาวิธี


ส.ศิวรักษ์ แสดง ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า วันที่ 16 กันยายน 2551 เวลา 18.00น.

Monday, September 22, 2008

ระบบเลือกตั้งในสังคมแตกแยก

ในสถานการณ์ความขัดแย้งปัจจุบัน ข้อถกเถียงสำคัญหนึ่งอยู่ที่การเลือกตั้ง ฝ่ายรัฐบาลอ้างผลการเลือกตั้งว่าเป็นที่มาของความชอบธรรม การเมืองใหม่ของพันธมิตรฯต้องการแก้ไขการเลือกตั้งด้วยสูตร 30-70 ที่ต้องอภิปรายกันต่อไป นอกจากนี้ ภาคประชาชนส่วนหนึ่งปกป้องการเลือกตั้งด้วยความเกรงกลัวว่าระบอบอำมาตยาธิปไตยจะกลับมา

อย่างไรก็ดี ข้อถกเถียงโดยมากก็ยังอยู่ที่ว่า เลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง โดยยังไม่ได้พิจารณาลึกลงไปถึงกลไกของการเลือกตั้งอย่างจริงจัง อันที่จริงแล้ว การพิจารณากลไกการเลือกตั้งจะส่งผลต่อรูปแบบของรัฐบาล ความโปร่งใสตรวจสอบได้ เสียงที่ถูกเปิดเผยหรือถูกกดทับในสภา

ระบบเลือกตั้งของไทยในรัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 เป็นแบบ คนแรกเป็นผู้ชนะ (First Past The Post) และ แบบ บล็อกโหวต (Block Vote) ตามลำดับ (โดยผสมกับแบบสัดส่วน) คำอธิบายอย่างง่ายๆสำหรับแบบ คนแรกเป็นผู้ชนะ คือ ในเขตเลือกตั้งหนึ่ง หากผู้สมัครพรรค ก ได้คะแนนเสียงร้อยละ 40 พรรค ข ได้ร้อยละ 30 พรรค ค ได้ร้อยละ 20 ผู้สมัครพรรค ก ก็จะเป็นผู้ชนะและได้ที่นั่งในสภาไปในทันที แม้ว่าจะได้รับการยอมรับไม่เกินครึ่ง หรือแม้ว่าผู้ลงคะแนนให้พรรค ข และพรรค ค จะไม่ชอบขี้หน้าผู้สมัครพรรค ก ด้วยซ้ำ พร้อมกันนั้น คะแนนของพรรค ข และพรรค ค รวมกันอีกร้อยละ 50 ก็กลายเป็น “คะแนนทิ้งน้ำ” ไม่ถูกนำมาคำนวณอะไร ส่วนแบบ บล็อกโหวต ผู้สมัครในเขตหนึ่งๆจากพรรคหนึ่งๆก็จะมีมากกว่าหนึ่งคน นั่นคือระบบเลือกตั้งที่เราใช้กันในปัจจุบันนั่นเอง

ระบบนี้ง่ายในการบริหารจัดการ เลือกตั้งครั้งเดียว กาช่องเดียว นับคะแนนหนเดียว แล้วจบกันไป (บางคนแซวว่าเป็นประชาธิปไตย 4 วินาที) แต่ในความง่ายนี้ก็มีข้อที่ต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นข้อเสีย

ประการแรก จำนวนที่นั่งในสภาที่ไม่ได้สะท้อนสัดส่วนของคะแนนเสียงโหวตอย่างใกล้เคียง เช่น พรรคอนุรักษ์นิยมหัวก้าวหน้า ในแคนาดาได้รับคะแนนเสียงทั่วประเทศร้อยละ 16 แต่มีที่นั่งในสภาเพียงร้อยละ 0.7 เท่านั้น ในกรณีเช่นนี้ สังคมที่มีชนกลุ่มน้อย ชนกลุ่มน้อยย่อมจะได้รับที่นั่งในสภาน้อยกว่าสัดส่วนจริง ไม่ใช่เพียงแค่ชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้มีปริมาณตัวแทนอย่างยุติธรรม ผู้หญิง กลุ่มคนพิการ หรืออาชีพ ก็ยากที่จะได้มีปริมาณตัวแทนที่แสดงสัดส่วนจริงของพวกเขาในสังคม นั่นหากสังคมนั้นเป็นสังคมที่แตกแยกอยู่แล้ว ความแตกแยกนั้นจะไม่ได้รับที่ทางเพื่อการไกล่เกลี่ยในสภาและเลี่ยงไม่ได้ที่ความขัดแย้งนั้นต้องออกไปแสดงนอกสภา

ประการที่สอง ระบบแบบนี้เป็นตัวเร่งให้เกิดการเอาชนะในเขตพื้นที่ สร้างฐานเสียงในพื้นที่จนให้เกิดการผูกขาดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามภูมิภาคของพรรคต่างๆ มากกว่าจะเป็นการแข่งขันกันในเชิงนโยบายหรืออุดมการณ์ ดูตัวอย่างจากประเทศไทยเราเองเถิดว่าการแบ่งแยกของพรรคการเมืองและการแบ่งแยกของภูมิภาคมีความชัดเจนเพียงใด

ประการที่สาม พรรคการเมืองจะขาดความใส่ใจต่อการเปลี่ยนแปลงคะแนนเสียงในพื้นที่ เช่น เมื่อพรรค ก ประเมินว่านโยบายที่มีประโยชน์ทับซ้อนทำให้คะแนนเสียงลดจากร้อยละ 40 ลงมาเหลือร้อยละ 35 แต่ตนเองก็ยังจะชนะอยู่ จะไปแคร์อะไรเล่า พรรคการเมืองในไทยตัดสินใจด้วยความกังวลต่อคะแนนเสียงด้วยหรือ ในเมื่อขอให้ระดมพลมาจนแค่ชนะแล้วอ้างความชอบธรรมจากการเลือกตั้งได้ต่อไปก็เป็นพอ

กลุ่มที่สนับสนุนการเลือกตั้งในระบบนี้เห็นว่า ระบบนี้มีข้อดีคือ ทำให้ได้พรรคการเมืองที่มีคะแนนเสียงเด็ดขาด ลดภาวะการเมืองมากพรรค ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ และการตัดสินใจทำได้อย่างรวดเร็ว แต่จากประสบการณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีความตั้งใจดังนั้น ผลจากการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากของพรรคไทยรักไทยก็ปรากฏขึ้นจริง
แต่ข้อดีดังกล่าวเป็นข้อเสียในตัว เสถียรภาพและความรวดเร็วไม่ได้การันตีธรรมาภิบาลหรือความโปร่งใส มิหนำซ้ำทำให้คนจำนวนมากรู้สึกเก็บกดกับการเมืองที่เขาไม่สามารถควบคุมได้จนแสดงออกในขบวนการนอกสภา (แต่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ) และต่อเนื่องมายังปัจจุบัน ข้อดีที่กล่าวอ้างดังกล่าวก็ถูตั้งข้อสงสัยว่าดีจริงหรือไม่ มีผลวิจัยทางสถิติในระดับโลกออกมาว่ามีแนวโน้มไม่จริง แม้ว่าจะไม่ได้มีนัยสำคัญทางสถิติก็ตาม

กระนั้นหากจะกล่าวอย่างง่าย ระบบเลือกตั้งในโลกก็ยังมีอีกสองตระกูล ตระกูลหนึ่งคือ เลือกตั้งแบบใช้เสียงส่วนใหญ่ อาจจะเป็นแบบสองเลือกตั้งรอบ เช่น รอบแรกผู้สมัครพรรค ก ได้คะแนนเสียงร้อยละ 40 พรรค ข ได้ร้อยละ 30 พรรค ค ได้ร้อยละ 20 ในรอบสองก็จะตัดพรรค ค ทิ้งไป เหลือการแข่งขันระหว่างพรรค ก และพรรค ข ในรอบที่สอง ว่าพรรคใดจะได้รับคะแนนเสียงเกินครึ่ง ระบบนี้ใช้ในฝรั่งเศสเป็นต้น

อีกตระกูลหนึ่งเป็นการเลือกตั้งแบบสัดส่วน หรือที่เราเรียกกันว่า ปาร์ตี้ลิสท์ และใช้ผสมกับแบบ คนแรกเป็นผู้ชนะ และแบบ บล็อกโหวต ทั้งในรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 แต่ก็ยังเป็นปริมาณที่น้อยอยู่ ประเทศที่มีประชาธิปไตยสูงอย่างในสแกนดิเนเวียใช้ระบบสัดส่วนเป็นหลัก ในเยอรมันจะมีการคำนวณที่ซับซ้อนมาก มีผลการศึกษาว่าระบบสัดส่วนลดความแตกแยกในสังคมที่มีความแตกแยกได้ระดับหนึ่ง

ระบบย่อยๆก็มีอีกเช่น การกาตัวเลือกที่สอง คือให้ในบัตรเลือกตั้ง ให้กาได้ว่าจะเอาผู้สมัครหรือพรรคใดเป็นตัวเลือกแรก และผู้สมัครหรือพรรคใดเป็นตัวเลือกที่สอง หากว่าคะแนนตัวเลือกแรกไม่ชนะขาดเกินครึ่ง ก็จะนำคะแนนของตัวเลือกที่สองมาพิจารณาต่อไป

แม้ว่าการเลือกตั้งจะมีหลากหลาย แต่ก็เป็นเรื่องของรูปแบบ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า อย่าหมดศรัทธาในสภาผู้แทนราษฎร แต่เราต้องออกแบบระบบเลือกตั้งให้ได้สภาที่มีคนมีธรรม ดำเนินการอย่างเป็นธรรม มีความชอบธรรม เรื่องที่จำเป็นคือเราต้องมีจินตนาการเชื่อมโยงระหว่างระบบเลือกตั้งที่หลากหลายกับสังคมที่มีวิวัฒนาการ เช่น เมื่อเรามีกลุ่มการเมืองกระจายตามจานดาวเทียมมากกว่าจะยึดติดพื้นที่ และพิธีกรรายการโทรทัศน์จานดาวเทียมก็แพ้เลือกตั้งแบบแบ่งเขตทุกที เราจะจัดระบบอย่างไรให้กลุ่มการเมืองตามจานดาวเทียมมีที่ยืนในสภาบ้าง หรือ เมื่อเรามีชาวนาจำนวนมาก มีกรรมกรจำนวนมาก เราจะทำอย่างไรให้พวกเขามีที่นั่งในสภาอย่างสมควร หรือ เมื่อสังคมเราต้องการความเข้าใจในคนมลายูในไทยมากขึ้น เพราะเราอยู่ในสังคมพหุลักษณ์ เราจะสร้างพื้นที่ในสภาของพวกเขาได้อย่างไร

บางทีเราอาจจะต้องคิดเรื่องการเลือกตั้งในระบบสัดส่วนให้มากขึ้น เลือกตั้งกลุ่มสาขาอาชีพให้มากขึ้น (ต้องพิจารณาในทางความเป็นไปได้และผลกระทบ) หรือสำหรับสามจังหวัดชายแดนใต้เราอาจจะต้องให้มีสัดส่วน สส ต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากขึ้น หรือแม้แต่เราอาจจะต้องกำหนดโควต้าให้แต่ละพรรคว่า ต้องส่งผู้สมัครหญิงจำนวนอย่างน้อยเท่าไร ผู้สมัครที่เป็นคริสต์และมุสลิมอย่างน้อยเท่าไร หรือแต่ละกลุ่มอาชีพเท่าไร ไม่ต้องเอากลุ่มอาชีพไปเลือกตั้งแยกอีกหน
แต่การออกแบบการเลือกตั้งก็ไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เรายังต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองภาคประชาชนกับการเมืองในรัฐสภา องค์ประกอบอื่นๆของสังคมก็ต้องได้รับการปรับปรุง เช่น สหภาพแรงงานต้องเข้มแข็งและเป็นไปในเชิงสาระมากขึ้น สื่อมวลชนก็ต้องสำนึกต่อความจริง สถาบันการศึกษาต้องเป็นปัญญาให้กับสังคม

แม้ระบบเลือกตั้งจะเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบ แต่สำคัญที่สังคมต้องถกเรื่องระบบเลือกตั้งให้มากขึ้น อย่าให้เป็นข้อถกเถียงของแค่กลุ่มเทคโนแครตที่ไม่เคยติดดิน และอาจออกแบบระบบให้กับพวกพ้อง ท้ายที่สุด สังคมไทยเป็นสังคมที่คงทนและมีพลวัต จงอย่าได้ยึดถือรูปแบบของรัฐธรรมนูญใดเป็นสรณะเลย รัฐธรรมนูญที่ไม่ตามทันการเปลี่ยนแปลงทางสังคมย่อมเป็นไปตามหลักอนิจจัง น้ำนิ่งย่อมเป็นน้ำเน่า การเปลี่ยนแปลงโดยฉันทานุมัติจากสังคมร่วมกันจะทำให้เราอภิวัตน์ไปด้วยกันได้

ปกรณ์